ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: โรควิตกกังวลในเด็ก ปัญหาที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ  (อ่าน 53 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 391
  • รับโพสเว็บ รับจ้างโพส โปรโมทเว็บ รับจ้างโปรโมทเว็บ
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: โรควิตกกังวลในเด็ก ปัญหาที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ

โรควิตกกังวลในเด็กมักเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ละเลย เพราะเข้าใจว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แม้ความวิตกกังวลในเด็กจะเป็นการตอบสนองต่อเหตุการณ์ทั่วไปที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น แยกจากพ่อแม่ หรือเข้าสังคมใหม่ ๆ แต่เมื่อเด็กมีอาการรุนแรงขึ้น ความกังวลธรรมดาอาจกลายเป็นโรควิตกกังวลที่ต้องได้รับการรักษา

ความวิตกกังวลเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ กลัว และกังวลที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากปล่อยให้เด็กเป็นโรควิตกกังวลโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิต และการใช้ชีวิตไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ บทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุและอาการของโรควิตกกังวลในเด็ก รวมทั้งวิธีดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเมื่อเด็กเกิดความวิตกกังวลที่ผู้ปกครองควรรู้


สาเหตุและอาการของโรควิตกกังวลในเด็ก

โรควิตกกังวลในเด็กอาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น กรรมพันธุ์ การทำงานของระบบประสาท พื้นฐานอารมณ์ที่หวาดกลัวง่าย ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ปัญหาครอบครัว อย่างการที่พ่อแม่หย่าร้างกันหรือการเลี้ยงดูที่ปกป้องเกินไป (Overprotective) รวมถึงการที่เด็กเคยประสบเหตุการณ์อันเลวร้ายอย่างอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ การถูกบูลลี่ (Bully) การถูกทารุณกรรม (Child Abuse) และการล่วงละเมิดทางเพศ

โดยโรควิตกกังวลในเด็กแสดงอาการได้หลายแบบ ซึ่งรูปแบบที่พบบ่อย ได้แก่

1.    ภาวะวิตกกังวลทั่วไป

ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเด็กมักมีอาการวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาสุขภาพ เพื่อน การเรียน ครอบครัว

เด็กที่มีภาวะวิตกกังวลทั่วไปอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัวและปวดท้องจากความเครียด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ เช่น ไม่สบายใจ ไม่มีสมาธิ กังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ขาดความมั่นใจ บางคนอาจไม่อยากไปโรงเรียน และไม่อยากพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวและเพื่อน


2.    โรคกลัวการเข้าสังคม

เด็กที่มีโรควิตกกังวลจากโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety หรือ Social Phobia) มักเริ่มมีอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือเมื่ออายุประมาณ 13 ปี โดยอาการของโรคกลัวการเข้าสังคมจะแตกต่างจากความเขินอายทั่วไป

เด็กที่มีอาการของโรคกลัวการเข้าสังคมมักรู้สึกกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องเข้าสังคม เช่น เมื่อต้องทำกิจกรรมกับเพื่อนหรือเมื่อต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียน เพราะกลัวว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ความวิตกกังวลของตนเอง ผู้ปกครองอาจสังเกตว่าเด็กไม่อยากไปโรงเรียนและมีเพื่อนน้อย


3.    โรควิตกกังวลจากการแยกจาก

การแยกจากผู้ปกครองและพี่เลี้ยงมักทำให้เด็กเล็กกลัวการถูกทอดทิ้ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติตามพัฒนาการของทารกและเด็กวัยก่อนเข้าเรียน และบางครั้งเด็กโตอาจมีอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากผู้ปกครองเมื่อไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย

เด็กที่มีโรควิตกกังวลจากการแยกจาก (Separation Anxiety) มักเกิดอาการวิตกกังวลรุนแรงเมื่อแยกจากผู้ปกครองหรือพี่เลี้ยง รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวเมื่อคนที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้ ตื่นตระหนก ร้องไห้งอแงหรือร้องอาละวาด ไม่ยอมไปโรงเรียน และกลัวการนอนหลับในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน

นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจมีอาการของภาวะเด็กไม่พูดในบางสถานการณ์ (Selective Mutism) โดยจะไม่สามารถพูดสื่อสารในสถานการณ์ทางสังคมที่เด็กควรจะทำได้ เช่น เมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรือโรงพยาบาล แต่สามารถสื่อสารกับคนในครอบครัวเมื่ออยู่ที่บ้านได้ตามปกติ ซึ่งอาจพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี


4.    โรคกลัวแบบจำเพาะ

โรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobia) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมักรู้สึกกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งของ รวมถึงสถานการณ์หรือกิจกรรมบางอย่าง เช่น สุนัข แมงมุม เข็มฉีดยา ฟ้าร้อง ความสูง โดยมักเกิดขึ้นในเด็กวัยเรียน

เด็กอาจเกิดอาการกลัว ตื่นตระหนก เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ และหายใจหอบถี่ เด็กมักมีอาการร้องไห้งอแง ไม่ยอมอยู่ห่างพ่อแม่ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว โดยอาการอาจเกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรงหรือเพียงแค่นึกถึงสิ่งเหล่านั้น


5.    โรคแพนิค

โรคแพนิค (Panic Disorder) เป็นภาวะที่ทำให้เด็กเกิดอาการตื่นตระหนกรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นอาการขั้นรุนแรงของภาวะวิตกกังวล โรคแพนิคมักเกิดในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และพบได้น้อยในเด็กเล็ก

เด็กมักมีอารมณ์ฉุนเฉียว หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หายใจหอบถี่ ไม่สบายท้อง วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ บางคนอาจรู้สึกควบคุมตัวเองไม่ได้ และรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาย โดยอาการจะเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ ประมาณ 5–20 นาทีแล้วค่อย ๆ หายไป หากเด็กมีอาการเหล่านี้ซ้ำตั้งแต่ 2–3 ครั้งขึ้นไป และหมกมุ่นอยู่กับความกังวลว่าจะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นอีก จะถือว่าเป็นโรคแพนิค


6.    โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ในเด็กอาจทำให้เด็กมีความคิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่ทราบสาเหตุ และมักทำพฤติกรรมบางอย่าง เช่น พูด นับเลข ล้างมือซ้ำ ๆ เพื่อระบายความความเครียดและความวิตกกังวลจากความคิดดังกล่าว หากเด็กมีอาการรุนแรงอาจหมกมุ่นกับการทำพฤติกรรมซ้ำเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

โรควิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่นมักทำให้เกิดอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิต เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร นอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด รวมทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานด้วย
รับมืออย่างไรกับโรควิตกกังวลในเด็ก

หากสังเกตว่าเด็กมีอาการวิตกกังวล ผู้ปกครองควรดูแลเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    สอนให้เด็กเข้าใจว่าความวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติ และหากเด็กเริ่มโตพอที่จะเข้าใจและเรียนรู้ อาจอธิบายความหมายและอาการของโรควิตกกังวลให้ฟัง
    ส่งเสริมให้เด็กเล่าความรู้สึกไม่สบายใจหรือปัญหาให้ผู้ปกครองฟัง โดยไม่ควรคาดคั้นหรือถามชี้นำเกี่ยวกับความวิตกกังวล ผู้ปกครองอาจถามคำถามแบบปลายเปิด เช่น “วันนี้ทำกิจกรรมกับเพื่อนมาเป็นอย่างไรบ้าง”
    รับฟังความไม่สบายใจและความวิตกกังวลด้วยความเข้าใจ และพูดให้เด็กมั่นใจว่าผู้ปกครองจะอยู่เคียงข้างเสมอ
    เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับความวิตกกังวลอย่างเหมาะสมให้เด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าความวิตกกังวลและความเครียดเป็นเรื่องปกติที่สามารถรับมือได้
    สอนให้เด็กกล้าเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ดี
    หลีกเลี่ยงการดุด่า ตำหนิ หรือใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็ก เพราะจะทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้น
    หากความวิตกกังวลในเด็กเกี่ยวข้องกับเรื่องการเรียนและการทำกิจกรรมในโรงเรียน ควรพูดคุยกับครูประจำชั้น เพื่อการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม
    ดูแลสุขภาพเด็กให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้เด็กรับมือกับความวิตกกังวลได้ดี

หากโรควิตกกังวลในเด็กไม่ดีขึ้นและมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้
การบำบัดรักษา

การบำบัดเด็กที่เป็นโรควิตกกังวลมักใช้วิธีบำบัดด้วยการพูดคุย (Psychological Counseling) กับจิตแพทย์ โดยวิธีที่ได้ผลมากที่สุดคือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) จิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการรับมือกับอาการวิตกกังวลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อาจบำบัดด้วยวิธีเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy) เพื่อสร้างความเคยชินและความมั่นใจเมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้วิตกกังวล

การบำบัดรักษาเป็นวิธีที่รักษาโรควิตกกังวลในเด็กที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลาง และหากรับการบำบัดแล้วได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร จิตแพทย์อาจให้ยารักษาอาการควบคู่กัน
การใช้ยา

การใช้ยารักษาโรควิตกกังวลในเด็กจะใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยยาหลักที่แพทย์แนะนำคือ ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ในกลุ่ม SSRIs และกลุ่ม SNRIs ซึ่งจะไปเพิ่มปริมาณของสารสื่อประสาทอย่าง เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ให้สมดุล ช่วยปรับสภาวะอารมณ์และบรรเทาอาการวิตกกังวล

ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ นอนหลับยาก ความอยากอาหารเปลี่ยนไป ปวดท้อง และท้องเสีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากยาที่พบได้บ่อย

นอกจากนี้ การรักษาด้วยการฝึกสติและสมาธิ (Mindfulness Training) อาจช่วยรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป โรควิตกกังวลจากการแยกจาก และโรคกลัวการเข้าสังคมในเด็กได้เช่นกัน

ทั้งนี้ การดูแลรักษาโรควิตกกังวลอาจขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของเด็กแต่ละคน บางคนอาจมีอาการในช่วงสั้น ๆ และหายไปเมื่อโตขึ้น แต่บางคนอาจมีอาการในระยะยาวที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

ความกลัวและกังวลเป็นเรื่องปกติของเด็กทั่วไป แต่หากผู้ปกครองสังเกตว่าเด็กมีอาการของโรควิตกกังวล เช่น รู้สึกเครียด กลัว วิตกกังวลรุนแรงและมีอาการเป็นเวลานาน ร่วมกับอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะและปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนไม่หลับ ร้องไห้งอแงผิดปกติ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา