ผู้เขียน หัวข้อ: โรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์และผลกระทบต่อลูกน้อย  (อ่าน 12 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 417
  • รับโพสเว็บ รับจ้างโพส โปรโมทเว็บ รับจ้างโปรโมทเว็บ
    • ดูรายละเอียด
โรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์และผลกระทบต่อลูกน้อย
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 16:19:45 น. »
โรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์และผลกระทบต่อลูกน้อย   

มะเร็งในระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ได้ไม่น้อย เพราะเดิมทีโรคมะเร็งเป็นโรคที่ค่อนข้างซับซ้อนและรักษายาก บวกกับความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ แต่โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อาจรักษาได้และไม่ได้ร้ายแรงเสมอไป

โรคมะเร็งที่เกิดในระหว่างตั้งครรภ์นั้นพบได้น้อย จากค่าเฉลี่ยพบว่ามีอัตราการเกิดราว 1 ใน 1,000 คน บางชนิดอาจรักษาได้ระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งแพทย์จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคุณแม่และทารกมาเป็นอันดับแรก หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์ก็อย่าเพิ่งกังวลไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม ในเบื้องต้น บทความนี้จะพาไปรู้จักโรคมะเร็งที่เกิดในระหว่างการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น


โรคมะเร็งส่งผลต่อทารกในครรภ์ไหม ?

ปกติแล้วหากตรวจพบมะเร็งชนิดที่ไม่รุนแรง ไม่ลุกลาม หรือไม่ได้อยู่ใกล้กับตำแหน่งสำคัญ โรคมะเร็งอาจไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อตัวอ่อนในครรภ์โดยตรงในทันที แต่ถ้าคุณแม่เป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง (Malignant Melanoma) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็อาจมีความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่ไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน รวมทั้งขั้นตอนการรักษาบางอย่างก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ในกรณีของคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกระหว่างเป็นมะเร็งยังสามารถให้นมลูกต่อไปได้อย่างปลอดภัย เพราะเซลล์มะเร็งมักไม่ส่งผ่านทางน้ำนม ทารกจึงสามารถกินนมแม่ได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าคุณแม่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยาคีโม ไม่ควรให้ทารกดื่มนมแม่เพราะอาจเป็นอันตรายได้


ชนิดของมะเร็งที่พบระหว่างตั้งครรภ์

โรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์อาจพบได้หลายชนิด โดยชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) นอกจากมะเร็งเต้านมแล้วก็อาจพบโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma) และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma) มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ มะเร็งสมอง มะเร็งกระดูก และมะเร็งปอดก็อาจพบได้ระหว่างตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน แต่โอกาสพบน้อยกว่ามะเร็งชนิดอื่น
มะเร็งตอนตั้งครรภ์ รักษาได้หรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า?

การรักษาโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของมะเร็ง ความรุนแรงและระยะของมะเร็ง อายุครรภ์ และความยินยอมในการรักษาของคุณแม่ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ก่อนเลือกวิธีรักษาโรคมะเร็ง โดยมีตั้งแต่การใช้ยา การฉายแสง การทำเคมีบำบัด และการผ่าตัด

การรักษามะเร็งในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคุณแม่และเด็กมาเป็นอันดับแรก หากโรคไม่รุนแรงมากหรืออายุครรภ์มากใกล้กำหนดคลอด แพทย์อาจรอให้คุณแม่คลอดเด็กก่อนแล้วค่อยเริ่มการรักษา บางกรณีอาจจำเป็นต้องเร่งให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเพื่อเริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด เช่น คุณแม่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดไม่รุนแรงและเซลล์มะเร็งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผ่าตัดได้โดยไม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนำวิธีการผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันการแพร่ของเซลล์มะเร็ง แล้วค่อยฉายแสงอีกครั้งหลังจากคลอดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่

ถ้าผลการรักษาจากการผ่าตัดและการรักษาโรคมะเร็งในเบื้องต้นออกมาไม่ดี แพทย์อาจจำเป็นต้องเพิ่มระดับและความเข้มข้นในการรักษา เช่น การฉายแสงและการให้ยาเคมีบำบัด แต่ทั้งสองวิธีนี้อาจส่งผลต่อทารกได้ โดยเฉพาะการใช้ยาเคมีบำบัดที่อาจทำให้อวัยวะทารกไม่สมบูรณ์ เกิดภาวะสติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการช้า และทำให้แท้งได้ ส่วนการผ่าตัดก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

ในกรณีที่อาการรุนแรงและแพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องเริ่มการรักษาทันที เพราะเซลล์มะเร็งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของแม่ แพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับความเสี่ยงของการรักษา ความรุนแรงของโรค รวมถึงการยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้คุณแม่เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้การเกิดโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายคุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วย แพทย์อาจแนะนำให้พูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพดังกล่าว โดยเฉพาะในรายที่ต้องยุติการตั้งครรภ์
สงสัยว่าเป็นมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ ควรทำอย่างไร?

อย่างที่กล่าวมาว่าโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์พบได้น้อย อีกทั้งอาการบางอย่างของโรคมะเร็งบางชนิดและอาการคนท้องอาจดูคล้ายกัน เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเต้านมมีลักษณะเปลี่ยนไป คุณแม่จึงอาจสับสนหรือเป็นกังวลได้ ดังนั้นหากไม่สบายควรไปปรึกษาแพทย์

หากคุณแม่ตรวจพบโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์และเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่รุนแรง คุณแม่ควรเข้ารับการรักษาและทำตามคำแนะนำในการดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำ โดยพยายามทำจิตใจให้สงบ เพราะภาวะอารมณ์ของคุณแม่ส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยได้

ในปัจจุบัน แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์ อีกทั้งการตั้งครรภ์และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากการตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งโดยตรง ด้วยเหตุนี้โรคมะเร็งระหว่างตั้งครรภ์จึงอาจเกิดจากสาเหตุและปัจจัยอื่น เช่น พันธุกรรม อาหารการกิน การใช้ชีวิต ดังนั้นควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง สุดท้ายนี้หากพบความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง