ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ข้อเข่าเสื่อม  (อ่าน 101 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 417
  • รับโพสเว็บ รับจ้างโพส โปรโมทเว็บ รับจ้างโปรโมทเว็บ
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ข้อเข่าเสื่อม

สาเหตุ

มีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสารเคมีภายในข้อ ในที่สุดทำให้ผิวข้อกระดูก 2 ด้านที่สึกกร่อนและขรุขระ มีการเบียดหรือเสียดสีกันโดยตรง และเกิดการอักเสบเรื้อรังภายในข้อกระดูก

ขณะเดียวกันก็เกิดกระบวนการซ่อมแซมของข้อ ทำให้มีหินปูนหรือปุ่มงอก (osteophytes) เกาะรอบ ๆ ผิวข้อ ซึ่งมีบางส่วนแตกหักหลุดเข้าไปในข้อ ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดดังกล่าวทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อติด ข้อแข็ง และเคลื่อนไหวลำบาก

พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้เกิดโรคนี้ เช่น

    อายุและเพศ ภาวะข้อเสื่อมมักเกิดในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือหลังวัยหมดประจำเดือน (เกี่ยวกับการพร่องฮอร์โมนเอสโทรเจน) แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีจะพบในผู้ชายมากกว่า
    กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อมชนิดหลายข้อ หรือข้อเสื่อมตั้งแต่อายุน้อย มีโอกาสที่จะเกิดข้อเสื่อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีข้อนิ้วมือเสื่อม จะพบว่าสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้มากกว่ากลุ่มที่มีข้อเข่าเสื่อม
    ความอ้วน ทำให้เกิดแรงกดดันต่อข้อเข่าและสะโพก เกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น นอกจากนี้เนื้อเยื่อไขมันส่วนเกินยังสร้างสารเคมี (กลุ่ม cytokines) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบภายในและรอบ ๆ ข้อ ทำให้ข้อถูกทำลาย
    การได้รับบาดเจ็บ (เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬา) ที่มีการกระแทกต่อข้อเข่า
    การใช้ข้อมากหรือซ้ำ ๆ อยู่นาน ๆ เช่น การก้ม การนั่งงอเข่า การเดินขึ้นลงบันได การยืนนาน ๆ การยกของหนัก จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อข้อต่อ เป็นเหตุให้ข้อเสื่อมได้
    กล้ามเนื้ออ่อนแอ เช่น กล้ามเนื้อต้นขา (quadriceps) อ่อนแอ อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว
    เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เกาต์
    การติดเชื้อ เช่น ข้ออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    ข้อมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด

อาการ

ลักษณะที่พบได้ทั่วไปสำหรับโรคข้อเสื่อมไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งใดก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อติด (ข้อแข็ง) หรือขยับได้ไม่สุด อาการปวดข้อมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมักไม่พบลักษณะอักเสบ (บวมแดงร้อน) ของข้อชัดเจน และไม่มีไข้ อาการปวดข้อมักจะไม่รุนแรง จะปวดเวลามีการใช้ข้อและทุเลาเมื่อพัก

อาการข้อแข็งหรือข้อติด ขยับลำบาก มักเกิดขึ้นเวลาตื่นนอนตอนเช้า หรือเมื่อหยุดพัก ไม่ได้ใช้ข้ออยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นอยู่ไม่เกิน 30 นาที หลังจากมีการเคลื่อนไหวข้อก็จะทุเลาไปเอง

อาการปวดข้อและข้อติดมักจะเป็นเวลาอากาศเย็นชื้น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากแรงดันในข้อมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ข้อที่เสื่อมแต่ละตำแหน่งยังมีลักษณะอาการเฉพาะดังนี้

    ข้อนิ้วมือเสื่อม ในระยะแรกจะมีอาการปวดและชาตามข้อ อาการปวดจะทุเลาไปได้เองภายใน 1 ปีหลังเริ่มมีอาการ และอาจกำเริบซ้ำหากมีการใช้ข้อมากเกิน นอกจากนี้มักเกิดปุ่มกระดูกที่ข้อต่อ เรียกว่า ปุ่มเฮเบอร์เดน (Heberden node) ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ และทำให้ดูไม่สวยงาม
    ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม จะมีอาการปวดที่ต้นคอหรือปวดหลังตรงกระเบนเหน็บ และอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่แขนหรือขา (ดู "โพรงกระดูกสันหลังแคบ" และ "กระดูกคอเสื่อม")
    ข้อสะโพกเสื่อม มักมีอาการปวดสะโพก อาจปวดร้าวไปที่ขาหนีบ ก้น หรือเข่า เวลายืนหรือเดินนาน ๆ ขึ้นลงบันได และทุเลาเมื่อพัก ข้อสะโพกมีอาการติดขัดขยับได้ไม่เต็มที่
    ข้อเข่าเสื่อม (ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือคนอ้วน) อาจมีอาการที่เข่าเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ จะมีอาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว และทุเลาเมื่อพัก จะปวดมากเวลายืนหรือเดินนาน ๆ เดินขึ้นลงบันได หรือเวลางอเข่า (เช่น นั่งยอง ๆ คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ผิวข้อที่ขรุขระเบียดกันมาก เกิดอาการปวดจนบางครั้งไม่สามารถงอเข่าได้) บางครั้งอาจมีอาการปวดที่บริเวณต้นขาและน่อง เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว เวลาเคลื่อนไหวข้อเข่าจะมีเสียงดังกรอบแกรบ

เนื่องจากมีการเสียดสีของผิวข้อที่ขรุขระ หรือมีอาการติดขัดเนื่องจากปุ่มงอกที่หักหลุดเข้าไปขัดอยู่ในข้อ

ผู้ป่วยมักมีอาการข้อติดข้อแข็งหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ และหลังจากขยับข้อหรือลุกเดินอาการจะทุเลาไปภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที

ระยะแรกจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แล้วค่อย ๆ เป็นมากขึ้น จนในที่สุดจะปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา

เมื่อข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่ง เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้าง เนื่องจากลงน้ำหนักไม่เต็มที่ หรือเอนตัวเพราะเจ็บเข่าข้างหนึ่ง บางรายเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา หรืออาจงอและเหยียดเข่าลำบาก บางรายอาจมีกล้ามเนื้อขาลีบลง

ในรายที่มีกล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อนเข่าทรุด อาจทำให้พลัดตกหกล้มได้


ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่ข้อกระดูกสันหลังเสื่อมรุนแรง อาจทำให้เกิดโพรงกระดูกสันหลังแคบ หรือกระดูกคองอกกดรากประสาท

ในรายที่ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมรุนแรง อาจทำให้เดินไม่ถนัด หรือเข่าอ่อน เข่าทรุด หกล้มได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในรายที่เริ่มมีข้อเสื่อมระยะแรก อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

เมื่อเป็นเรื้อรังมานาน อาจตรวจพบข้อขยับได้ไม่สุดหรือข้อติดขัด เวลาจับข้อ (เข่าหรือสะโพก) โยกไปมาจะได้ยินเสียงดังกรอบแกรบ

อาจพบปุ่มกระดูก (ปุ่มเฮเบอร์เดน) ที่ข้อนิ้วมือหลายนิ้ว หรืออาจคลำได้ปุ่มงอกที่ข้อเข่า

สำหรับข้อเข่าที่เสื่อมรุนแรง อาจพบขาโก่ง 2 ข้าง เดินกะเผลก บางครั้งอาจพบข้อบวมเนื่องจากมีน้ำอยู่ในข้อโดยไม่มีอาการอักเสบแดงร้อนร่วมด้วย (ถ้าข้อมีอาการบวม แดง ร้อน มักเกิดจากสาเหตุอื่น)

สำหรับข้อสะโพกเสื่อม อาจตรวจพบขา 2 ข้างยาวไม่เท่ากัน เนื่องจากข้อข้างที่เสื่อมเคลื่อนหลุดจากเบ้าสะโพก

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้ามีอาการปวด ให้พักข้อที่ปวด (เช่น อย่าเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันได นั่งเหยียดเข่าข้างที่ปวด อย่านั่งงอเข่า) และใช้น้ำแข็งหรือน้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ ทานวดด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้ายังปวดให้กินพาราเซตามอลบรรเทาเป็นครั้งคราว

ถ้ามีอาการปวดมาก จะให้กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในขนาดต่ำสุด นาน 3-5 วัน ไม่ควรกินติดต่อกันนาน ๆ และควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคแผลเพ็ปติก ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันหลายวัน จะให้ยาป้องกันโรคแผลเพ็ปติก เช่น โอเมพราโซล ครั้งละ 20 มก. วันละ 2 ครั้ง

2. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อาการปวดข้อกำเริบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า) เช่น ห้ามยกของหนัก หรือหาบน้ำ หิ้วน้ำ อย่ายืนนาน อย่านั่งคุกเข่า (นั่งถูพื้นหรือซักผ้า) นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ พยายามนั่งบนเก้าอี้หรือนั่งในท่าเหยียดเข่าตรง

เวลาสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ หรือประกอบกิจทางศาสนา ควรหลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า ควรนั่งเก้าอี้หรือยืน

ควรหลีกเลี่ยงการนั่งซักผ้าในท่างอเข่า และการนั่งส้วมซึมแบบยอง ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ส้วมชักโครก หรือใช้เก้าอี้เจาะช่องตรงกลางนั่งคร่อมบนส้วมซึม

หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได* ถ้าเป็นไปได้ควรย้ายห้องนอนลงมาชั้นล่าง

ถ้าพื้นบ้านมีการยกสูงต่างระดับกัน ทำให้เวลาเดินต้องงอเข่ามาก ก็ควรปรับให้เป็นระดับเดียว

ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น หลังจากนั่งทำงานนาน 1 ชั่วโมงควรพัก และลุกขึ้นเดินสัก 2-3 นาที หรือหลังจากยืนนาน ๆ ก็ควรนั่งพักสักครู่สลับกัน

ถ้าน้ำหนักมาก ควรลดน้ำหนักซึ่งจะช่วยให้อาการปวดทุเลาได้มาก

ในรายที่มีข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม เวลาเดินควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทกเพื่อลดการบาดเจ็บต่อข้อ

3. พยายามบริหารกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรง เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง (ดู "โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง") ถ้าปวดเข่าก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า

การฝึกกล้ามเนื้อควรเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว ระยะแรกฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที จนรู้สึกกล้ามเนื้อแข็งแรงไม่เมื่อยง่าย จึงเพิ่มเป็นวันละ 3-5 ครั้ง

การบริหารกล้ามเนื้อเข่า เริ่มแรกไม่ต้องถ่วงด้วยน้ำหนัก ต่อไปค่อย ๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ถุงทรายหรือขวดน้ำใส่ถุงพลาสติกที่มีหูหิ้ว) ที่ข้อเท้าทีละน้อย จาก 0.3 กก. เป็น 0.5 กก. 0.7 กก. และ 1 กก. โดยเพิ่มไปเรื่อย ๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กก. ข้อเข่าก็จะแข็งแรงและลดอาการปวด ควรทำเป็นประจำทุกวัน

4. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากหรือบ่อย หรือมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด ควรใช้ไม้เท้า เครื่องพยุงหรือกายอุปกรณ์ช่วยเดิน และสร้างราวเกาะในบ้านและในห้องน้ำ เพื่อใช้เกาะเดินและพยุงตัวป้องกันการหกล้ม

5. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ หรือบวมตามข้อ หรือมีอาการปวดร้าวหรือชาตามแขน (ร่วมกับปวดคอ) หรือขา (ร่วมกับปวดหลัง) จะทำการตรวจโดยการเอกซเรย์ดูการเปลี่ยนแปลงของข้อ หากสงสัยว่าเกิดจากโรคอื่น อาจต้องทำการตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม

ในรายที่ปวดรุนแรง แพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้ามีข้อห้ามใช้ยากลุ่มนี้แพทย์อาจให้ยาบรรเทาปวดอื่น ๆ เช่น ทรามาดอล อะมิทริปไทลีน เพื่อบรรเทาปวด

ในรายที่มีอาการข้อบวม แพทย์จะทำการดูดน้ำในข้อออก และอาจพิจารณาฉีดสเตียรอยด์เข้าในข้อเป็นครั้งคราว สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 4-6 เดือน (ไม่ควรเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้กระดูกเสื่อมหรือสลายตัวเร็วขึ้น)

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาอื่น ๆ เช่น การทำกายภาพบำบัด, การฝังเข็ม, การให้กินยากลูโคซามีน (glucosamine) ซึ่งมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ, การฉีดสารไฮยาลูโรเนต (hyaluronate ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในน้ำในข้อ) เข้าในข้อ 1 ครั้ง/สัปดาห์ จำนวน 3-5 ครั้ง

วิธีเหล่านี้มีส่วนในการบรรเทาอาการปวดข้อ แต่มักจะกำเริบอีก และอาจต้องให้การรักษาเป็นระยะ ๆ ตามความรุนแรงของโรค

ในรายที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรง จนไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ หรือข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่ง โค้งงอ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีใช้ยาต่าง ๆ ไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกให้เหมาะกับอายุ ความรุนแรง และลักษณะการใช้งานข้อเข่า เช่น การผ่าตัดโดยการใช้กล่องส่องเพื่อล้างข้อและซ่อมแซมผิวข้อ (arthroscopic larvage and debridement) ในผู้ป่วยที่เข่าเสื่อมไม่มาก, การผ่าตัดจัดแนวรับน้ำหนักของข้อเข่าใหม่ (osteotomy) ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ข้อเข่าผิดรูป, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (joint replacement) ซึ่งนิยมทำในผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรงหรือผิดรูปมาก

สำหรับข้อสะโพกเสื่อมก็มีการผ่าตัดจัดแนวรับน้ำหนักใหม่ และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมช่วยให้ผู้ป่วยหายปวด สามารถเคลื่อนไหวข้อและเดินได้เป็นปกติ ในปัจจุบันมีการพัฒนาข้อเข่าเทียมที่สามารถงอเหยียด และเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าจริง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนที่แข็งแรงทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังดูแลข้อเข่าเทียม โดยไม่ใช้งานหนักเกิน หลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นเวลานาน ๆ การแบกหาม การเดินไกล ๆ และการงอเข่ามาก ๆ และควรควบคุมน้ำหนัก มิเช่นนั้นข้อเข่าเทียมก็อาจชำรุดและใช้งานไม่ได้ในเวลาที่สั้นกว่าควรจะเป็น (ปกติข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 8-15 ปี)

*หากจำเป็นต้องขึ้นลงบันได สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าข้างเดียว เวลาเดินขึ้นบันได ให้เดินขึ้นทีละขั้น โดยก้าวขาข้างที่ปกติขึ้นก่อน แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามไปวางบนขั้นที่ขาปกติวางอยู่ อย่าก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง ส่วนขาลง ก็ก้าวขาข้างที่ปวดลงก่อน แล้วก้าวขาข้างที่ปกติตาม การก้าวขึ้นลงบันไดทีละขั้นแบบนี้ ขาข้างที่ปวดจะไม่มีการงอเข่า จึงลดอาการปวดลงได้

การดูแลตนเอง

ถ้ามั่นใจ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นข้อเข่าเสื่อม ควรดูแลตนเอง ดังนี้   

    กินยาบรรเทาปวดตามคำแนะนำของแพทย์
    ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ หรือน้ำแข็งประคบ
    หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้ปวดข้อ (เช่น นั่งงอเข่า เดินขึ้นลงบันได หรือบนพื้นต่างระดับ)
    บริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อให้แข็งแรง
    ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน
    หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนมาใช้เอง เนื่องจากมักมียาสเตียรอยด์ผสม เมื่อกินแล้วจะรู้สึกดี ทำให้ต้องกินติดต่อกันนาน ๆ จนอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากสเตียรอยด์

ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

    มีอาการไข้สูง ปวดข้อมาก หรือข้อมีลักษณะบวมหรืออักเสบ (บวมแดงร้อน)
    มีอาการเดินไม่ถนัด
    ดูแลตนเอง 1-2 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
    หลังกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง


การป้องกัน

สำหรับข้อเข่าเสื่อม อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้โดย

1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าปล่อยให้มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคนี้

2. หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่านาน ๆ และการยกหรือหาบของหนักเป็นประจำ

3. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง

4. ออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักมาก เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น และรู้จักป้องกันไม่ให้ข้อบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เช่น มีการอุ่นเครื่อง (วอร์มอัป) และผ่อนคลายร่างกาย (คูลดาวน์) ก่อนและหลังออกกำลังกาย ใส่รองเท้าที่ลดแรงกระแทก หลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นที่แข็ง เป็นต้น


ข้อแนะนำ

1. โรคข้อเสื่อมแม้ว่าจะพบบ่อยในผู้สูงอายุ ปัจจุบันเชื่อว่ามีปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อมร่วมกันหลายประการ ไม่ใช่เกิดจากการใช้งานมากหรือเสื่อมตามอายุเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมจำนวนไม่น้อย (ซึ่งตรวจพบจากภาพถ่ายรังสี) จะไม่มีอาการแสดง ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ

2. โรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดไป ซึ่งจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลาหลายปี และถ้าขาดการดูแลรักษาก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา หรือข้อผิดรูป

3. ยาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นยาบรรเทาอาการปวด ไม่ใช่ยารักษาเฉพาะ (ไม่ได้ช่วยให้ข้อที่เสื่อมฟื้นคืนปกติ) ควรเริ่มใช้ยาทาแก้ปวดข้อดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลใช้พาราเซตามอลเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีอาการปวด ถ้าไม่ได้ผลจึงเปลี่ยนเป็นยาบรรเทาปวดอื่น ๆ เช่น ทรามาดอล อะมิทริปไทลีน เป็นต้น

4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แพทย์จะใช้ยากลุ่มนี้ในรายที่อาการปวดรุนแรงหรือใช้ยาอื่นไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้ เช่น แผลเพ็ปติก เลือดออกในกระเพาะ ไตวาย

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดฉีดโดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดภาวะช็อกจากปฏิกิริยาอะไฟแล็กตอยด์ (anaphylactoid reaction) หรือการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น (myofasciitis) ได้

5. ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักมาก เช่น เดินเร็ว ๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน รำมวยจีน ฝึกโยคะเป็นต้น แต่ควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทก