doctor at home: เหา (Pediculosis capitis/Head louse) เหา เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด พบมากในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเรียนหญิงที่ไว้ผมยาวและไม่ค่อยสระผม บางครั้งอาจพบเป็นกันเกือบทั้งชั้นเรียนในโรงเรียนตามชนบท และตามแหล่งชุมชนแออัด
สาเหตุ
เกิดจากตัวเหา (Pediculosis capitis) ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด นอนร่วมกัน หรือใช้แปรงผม หวีหรือหมวกร่วมกับผู้ที่เป็นโรคนี้ เหาจะวางไข่ที่โคนผม เมื่อผมยาวขึ้น ไข่เหาจะอยู่ห่างโคนผมออกมาเรื่อย ๆ ไข่เหาจะฟักเป็นตัวใน 3-14 วัน
อาการ
มีอาการคันศีรษะมาก และพบตัวเหาและไข่เหาซึ่งเห็นเป็นจุดขาว ๆ ติดอยู่บริเวณโคนผมและเส้นผม ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณเหนือใบหูและที่ท้ายทอย บางรายอาจมีอาการคันมากตอนกลางคืน จนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
ภาวะแทรกซ้อน
บางรายอาจเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อนกลายเป็นตุ่มฝีหรือพุพอง และมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและตรวจพบตัวเหาหรือไข่เหาที่ติดอยู่บริเวณโคนผมและเส้นผม
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ใช้ยาฆ่าเหา เช่น เบนซิลเบนโซเอตชนิด 25% ชโลมทั่วศีรษะ โพกผ้าทิ้งไว้ประมาณ 12-20 ชั่วโมง วิธีที่สะดวก คือ ใส่ยาตอนเย็น แล้วทิ้งไว้ค้างคืน หลังจากนั้นสระผมให้สะอาด พร้อมทั้งใช้หวีเสนียดสางเอาไข่เหาออกมา
อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ควรทำซ้ำอีกครั้ง เพราะเป็นระยะที่ไข่เหาที่หลงเหลืออยู่ (ซึ่งไม่ถูกฆ่าโดยยาดังกล่าว) จะฟักตัวอีกครั้งหนึ่ง
ทางที่ดีควรทำการกำจัดไข่เหา โดยใช้หวีเสนียดจุ่มน้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชู สางผมทุกวัน
2. ถ้ามีตุ่มฝีหรือพุพองเกิดขึ้น ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลินหรืออีริโทรไมซิน นาน 10 วัน
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเหา ควรดูแลตนเอง ดังนี้
ใช้ยารักษาหิดเหา - เบนซิลเบนโซเอตชนิด 25% ชโลมทั่วศีรษะ โพกผ้าทิ้งไว้ประมาณ 12-20 ชั่วโมง วิธีที่สะดวก คือ ใส่ยาตอนเย็นแล้วทิ้งไว้ค้างคืน หลังจากนั้นสระผมให้สะอาดพร้อมทั้งใช้หวีเสนียดสางเอาไข่เหาออกมา อีก 1 สัปดาห์ต่อมาควรทำซ้ำอีกครั้งเพราะเป็นระยะที่ไข่เหาที่หลงเหลืออยู่ (ซึ่งไม่ถูกฆ่าโดยยาดังกล่าว) จะฟักตัวอีกครั้งหนึ่ง
ทำการกำจัดไข่เหา โดยใช้หวีเสนียดจุ่มน้ำร้อนผสมน้ำส้มสายชูสางผมทุกวัน
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลตนเองแล้วไม่ได้ผล
มีตุ่มฝีหรือแผลพุพองที่ศีรษะ
หลังใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่นคัน ตุ่มพุพอง หนังตาบวม ตาแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
การป้องกัน
ตัดผมให้สั้น และสระผมบ่อย ๆ
อย่าคลุกคลีหรือใช้ของร่วมกับคนที่เป็นเหา
ข้อแนะนำ
1. ถ้ามีคนในบ้านหรือในชั้นเรียนเป็นเหาหลายคน ควรรักษาทุกคนพร้อม ๆ กันไป เพื่อป้องกันการติดเหาจากคนข้างเคียงซ้ำอีก
2. ควรแยกนอนต่างหาก และไม่ควรคลุกคลีกับผู้อื่น
3. ควรนำที่นอน และหมอนออกผึ่งแดดทุกวัน
4. โลน (Pediculosis pubis) เป็นแมลงตัวเล็ก ๆ แบบเดียวกับเหา แต่จะอยู่ตามขนในบริเวณหัวหน่าว ติดต่อโดยการร่วมเพศ หรือใช้เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องส้วมหรือใช้เสื้อผ้าร่วมกัน พบมากในวัยรุ่น ทำให้มีตุ่มแดงมีรอยบุ๋มตรงกลาง คันมาก และอาจเกาจนกลายเป็นตุ่มหนองพุพอง บางครั้งอาจลุกลามไปที่ต้นขา ลำตัว รักแร้ หนวด ขนตา ขนคิ้ว แต่จะไม่ลามไปที่ผม การรักษาใช้เบนซิลเบนโซเอต ทาทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ควรทำซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา
5. ทั้งหิดและเหา สามารถใช้สมุนไพรรักษา โดยใช้เมล็ดน้อยหน่า ตำละเอียดผสมกับน้ำมะพร้าวในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ชโลมทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง แล้วล้างออก ทำซ้ำทุกสัปดาห์จนกว่าจะหาย แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำยาเข้าตา อาจทำให้เยื่อตาขาวอักเสบได้ หากมีผลข้างเคียงดังกล่าวควรใช้ยาหยอดตาที่เข้าสเตียรอยด์รักษา